อวร. ร่วมกับ อสป. เปิดเวทีจัดกิจกรรม ขยับความคิด พิชิตปัญหาพลังงานไฟฟ้าไทย ปีที่ 10 หัวข้อ “ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” เรียนรู้เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์ ในรูปแบบ New Normal
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า (อวร.) ร่วมกับ ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ (อสป.) จัดกิจกรรมขยับความคิด พิชิตปัญหาพลังงานไฟฟ้าไทย ปีที่ 10 ในรูปแบบการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแบบออนไลน์ สไตล์ New Normal หัวข้อ “ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” โดยมีโรงเรียนที่สนใจส่งทีมเข้าร่วมจำนวน 24 แห่ง จากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ
กิจกรรมขยับความคิด พิชิตปัญหาพลังงานไฟฟ้าไทย เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 โดยความร่วมมือระหว่าง อวร. และ อสป. มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปยังกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านสถานการณ์พลังงานของประเทศ และความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. มุ่งหวังให้เยาวชนเป็นสื่อกลางในการสื่อสารความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อครอบครัว และสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 นี้ ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบ New Normal ให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้านพลังงานสิ่งแวดล้อมผ่านสื่อออนไลน์ หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เยาวชนจะคิดค้นและจัดทำโครงงานเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินการประกวด ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563
วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม เวลา 14.00 น. ตัวแทนโรงเรียนพิบูลมังสาหารได้นำเสนอโครงงานการออกแบบและสร้างเตาเผาถ่านต้นแบบลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในการผลิตถ่านและ ถ่านไบโอชาร์จากเปลือกกล้วยและเครือกล้วย
เปลือกกล้วยและก้านเครือกล้วยเป็นสิ่งที่เหลือทิ้งจากการเกษตรในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้า สำหรับทำกล้วยตาก กล้วยฉาบ กล้วยเบรคแตก จากกระบวนการแปรรูปกล้วยก่อให้เกิด เปลือก หวี และก้านเครือกล้วย เหลือทิ้ง ซึ่งเป็นขยะทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เช่น ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันและแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือถ้าแห้งก็จะนำมาเผาทำให้เกิดควันเป็นมลพิษต่ออากาศ โดยขยะเหล่านี้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ต้องใช้งบประมาณในการจัดเก็บประมาณ 150 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นรายปีประมาณ 54,000 บาท ทางคณะผู้จัดทำโครงงานจึงมีแนวคิดที่จะออกแบบและสร้างเตาเผาถ่านต้นแบบเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสามารถผลิตถ่านและถ่านไบโอชาร์จากเปลือกกล้วยและเครือกล้วยเพื่อใช้ประโยชน์ในชุมชน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
วัตถุประสงค์
1. เพื่อออกแบบและสร้างเตาเผาถ่านต้นแบบลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย
2. เพื่อผลิตถ่านและถ่านไบโอชาร์จากเปลือกกล้วยและเครือกล้วย
หลังจากนำเสนอเสร็จ กรรมการได้สรุปผล และประกาศผลการแข่งขันทันที ผลปรากฏว่าโรงเรียนพิบูลมังสาหารได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับภาคอีสาน การแข่งขันขยับความคิด พิชิตปัญหาปี10 เกียรติบัตรและทุนการศึกษา 30,000 บาท
โดยมีสมาชิกทีมประกอบด้วย
1. นายณัฐภาคย์ โพธิพิมพ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
2. นายทรงพล บรรเทิงสุข ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
3. นางสาวจิตสุนันท์ ข่าทิพย์พาที ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
4. นางสาวบุญธาทิพย์ จัตตุรัต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ครูที่ปรึกษาโครงงาน
1. นางศิริรักษ์ ชินะโคตรพงษ์
2. นายธีรวัฒน์ บุรวิศิษฐ์